วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชาวกูย' วิถีคนเลี้ยงช้าง



เรื่องเล่า'ชาวกูย' วิถีคนเลี้ยงช้าง



 
ไม่ ใช่เรื่องง่ายที่เรื่องราวของใครคนหนึ่งจะกลายเป็นตำนานถูกเล่าขานผ่านคน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ดังเรื่องราวของชาว "กูย" หรือ "กวย" คนเลี้ยงช้างแห่งบ้านตา กลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ที่เต็มไปด้วยการผจญภัยอันตื่นเต้น โลดโผน และแฝงไว้ด้วยคติ ความเชื่อ อันมีผลต่อวิถีชีวิต และความคิดของคนในชุมชนสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

"การจับ ช้าง ไม่มียาก ไม่มีง่าย เพราะเราชำนาญในเรื่องนี้ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด กระทั่งมาถึงรุ่นพวกผมก็ได้เรียนรู้ทั่วถึงกัน ผมเองเริ่มจับช้างตั้งแต่อายุ 14 ปี ก็ตื่นเต้นทุกครั้ง ที่แรกที่ไปคือป่ากัมพูชา ตอนนั้นไปง่ายมาง่าย เขาไม่ได้หวง ไม่ได้ห้ามอะไร แต่เดี๋ยวนี้เขาห้ามแล้ว ไปยังไงก็ไปไม่ได้ เดินเท้าเข้าไปเขาก็ยังห้ามอีก"

พ่อหมิว ศาลางาม หมอช้างรุ่นสุดท้าย วัย 79 ปี เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งร่วมขบวนไปตระเวนจับช้างป่าแถบชายแดนเขมร ก่อนจะเลิกราไปในปีพ.ศ.2498 เพราะทางการเขมรห้าม ประกอบกับรัฐบาลไทยมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

อาชีพจับช้างป่าของชาวบ้านตากลางที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามนับแต่นั้นมา

ใน โอกาสที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัด "เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น" ขึ้น เพื่อผลักดันให้คนท้องถิ่นนำเสนอเรื่องราวของตนเองในเวทีระดับประเทศ เรื่องราวของ "ชาวกูย" ก็เป็นอีกประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง

"กู ย" หรือ "กวย" เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่คนภาคกลางเรียกว่า "ส่วย" ประวัติสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า คนสุรินทร์จะใช้ช้างบรรทุกสิ่งของมาส่งที่เมืองหลวง เรียกว่า "ส่งส่วย" เลยถูกคนภาคกลางเรียกว่า "พวกส่วย" ในขณะที่ชาวสุรินทร์เองภูมิใจกับชื่อ "กูย" หรือ "กวย" มากกว่า

กฤต พล ศาลางาม ลูกหลานชาวกูยบ้านตา กลาง ปัจจุบันเป็นผู้จัดการศูนย์คชศึกษา จ.สุรินทร์ อธิบายให้ฟังว่า ช่วงก่อนปีพ.ศ.2500 อาชีพหลักของชาวบ้านตากลางคือจับช้างป่า ส่วนการทำไร่ทำนาเป็นอาชีพรอง

ชาว กูยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทางและการผจญภัย ตระเวนออกไปจับช้างป่าแถบเขมรตั้งแต่ชายแดน ลงไปทางเสียมราฐ เรื่อยไปถึงอุดมชัยและจำปาศักดิ์ของลาว

"การไปจับช้างป่าครั้งหนึ่ง ใช้เวลา 2-3 เดือน ใช้ช้างเป็นพาหนะ ก่อนจะออกไปจับช้างต้องดูฤกษ์ยาม จากนั้นผู้ใหญ่ในชุมชนจะประกาศว่าใครจะสมัครใจไปร่วมจับช้างบ้าง ก่อนเดินทางทุกคนจะช่วยกันเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม พอถึงฤกษ์ยามก็ทำพิธีไหว้ศาลปะกำก่อน"

"ศาลปะกำ" ที่กฤตพลพูดถึง คือ ที่เก็บรักษาเชือกปะกำ ซึ่งชาวกูยเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่คอยอารักขาดูแลลูก หลานด้วย

เมื่อออกจากหมู่บ้าน คณะจับช้างป่าจะพักอยู่ข้างๆ หมู่บ้านอีก 3 วัน เพื่อทำ "พิธีประชิ" ผู้ที่ยังไม่เคยผ่านพิธีนี้จะมีตำแหน่งแค่ "มะ" หรือ "ควาญช้าง" เป็นผู้ช่วยอยู่ด้านหลัง ขณะที่ผู้ผ่านพิธีประชิแล้วจะได้เลื่อนขั้นเป็น "หมอจา" มีสิทธินั่งบนคอช้างและใช้เชือกคล้องช้างป่าได้


กฤต พลขยายความว่า ตำแหน่งของหมอช้าง นอกจาก "หมอจา" และ "มะ" ซึ่งเป็นลำดับต่ำสุดแล้ว ยังมี "หมอสะเดียง" "หมอสะดำ" และ "ครูบาใหญ่" หรือ "กำลวงพืด" ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดอีก ในการเลื่อนขั้นจะใช้จำนวนช้างป่าที่จับได้เป็นตัววัด

"เวลาไปหาช้าง คนเดินนำหน้าจะเป็นครูบาใหญ่ คนที่อยู่ข้างหลังเดินเป็นแถวตาม รอฟังสัญญาณให้ตีเข้าไปโอบล้อมช้างป่า คนที่นั่งข้างหน้าเป็นหมอช้างต้องมีความชำนาญจริงๆ เพราะเวลาจับ ช้างจะวิ่ง โอกาสที่จะตกลงมาโดนช้างเหยียบมีมาก ถ้าไม่ชำนาญ การจับช้างป่าก็คือการเสี่ยงตาย ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ละคนจึงต้องพร้อมที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง" กฤตพลเล่าออกรส

ในการ คล้องช้างป่า หมอช้างจะใช้ "เชือกปะกำ" ที่ปลายข้างหนึ่งเป็นบ่วงบาศ คล้องขาหลังช้างป่าที่ต้องการจับ เชือกปะกำนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการคล้องช้าง ทำจากหนังควายที่เหนียวทนทาน

ดังคำเปรียบเปรยว่า "ช้างแพ้ควาย" ก็ด้วยสาเหตุนี้

การออกป่าครั้งหนึ่งจะจับช้างได้หรือไม่ได้ การปฏิบัติตัวของคนจับช้างก็เป็นสิ่งสำคัญ

ใน การจับช้างป่า ควาญช้าง และหมอช้างจะต้อง "เข้ากรรม" คือปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามสูบบุหรี่บริเวณที่พักช้าง ห้ามร้องรำทำเพลง หรือทะเลาะวิวาท ห้ามพูดจากันด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษาผี ให้เรียกชื่อช้างแทนชื่อตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ผีป่าพาตัวไป ใครที่ทำได้ก็จะปลอดภัย โชคดี ขณะที่ผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับอันตรายต่างๆ เหมือนที่กฤตพลเล่าว่า

"ตาของผมเล่าให้ฟังว่า การผจญภัยของหมอช้างมีทั้งสัตว์ป่านานาชนิด มีทั้งไข้ป่า ถ้าไม่อยู่ในกฎระเบียบก็มีอันตรายรอบด้าน บางคนที่ปฏิบัติตามไม่ได้โดนเสือกัดตายก็มี เดินไปด้วยกัน 4-5 คน คนที่ทำผิดกฎอยู่ตรงกลาง เสือมันก็จ้องเอาคนที่อยู่ตรงกลางนั่นแหละ"

ทายาท หมอช้างบอกอีกว่า กฎระเบียบ ที่ปฏิบัติกันในป่า กลายเป็นเครื่องหล่อหลอมคุณธรรมในตัวผู้ปฏิบัติ เป็นเครื่องมือฝึกคนหนุ่มให้รู้จักเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ คนรุ่นก่อน ถ้าเคยผ่านการไปจับช้างป่าจะอยู่ในหลักเกณฑ์ ปฏิบัติตนดี ขณะที่ลูกหลานรุ่นหลังไม่ค่อยรู้กฎเกณฑ์ มักไปกินเหล้าเมายา จะว่ากล่าวตักเตือนก็ลำบาก

เช่นเดียวกับพ่อหมิวที่บอกว่า ฝึกช้างป่าให้เชื่องยังง่ายกว่าฝึกวัยรุ่นยุคนี้เป็นไหนๆ

"จับ ช้างมันง่ายกว่าจับคน ช้างมันไม่รู้กินเหล้า ไม่รู้เกเรอะไร หาอาหารให้มันกิน มันก็รู้จักเจ้าของ วันสองวันก็พาไปไหนมาไหนได้ แต่กับคนมันฝึกยาก"

ทุกวันนี้ แม้จะไม่มีอาชีพหมอช้างอีกต่อไป แต่ชาวกูยยังมีบทบาทในการช่วยเคลื่อนย้ายช้างป่าที่พลัดถิ่นและเป็นวิทยากร ให้ความรู้กับคนรุ่นหลัง

ถามพ่อหมิวว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนใจหมอช้างมากน้อยแค่ไหน หมอช้างรุ่นสุดท้ายตอบแบบไม่ต้องคิด

"โอ๊ย ถ้าเขาสนใจ ผมไม่นั่งอยู่ที่นี่หรอก ผมต้องไปอยู่ในป่าโน่น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น